วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนิน วัดถ้ำสิงห์โตทอง

วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดถ้ำสิงโตทอง ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยกฉัตรพระประธาน ตัดลูกนิมิต  ฉลองรูปเหมือนพระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ อินฺสุวรณฺโณ) และพิธีพุทธาภิเษก "พระพุทธสิริกิตติพิพัฒน์"และ "พระสมเด็จนางพญา ส.ก."

ในการเสด็จพระราชดำเนินในคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปลูกต้นสักไว้บริเวณด้านหน้าอุโบสถ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ "ส.ก." จารึกไว้หน้าปันอุโบสถด้วย


พระพุทธสิริกิตติพิพัฒน์
























พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงประกอบพิธียกฉัตรพระประธาน
อุโบสถวัดถ้ำสิงโตทอง























































ทรงปิดทองและประกอบพิธีตัดลูกนิมิต
อุโบสถวัดถ้ำสิงห์โตทอง





























ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ บริเวณวัดถ้ำสิงห์โตทอง
















ทรงปลูกต้นสักไว้บริเวณด้านหน้าอุโบสถวัดถ้ำสิงห์โตทอง
















***********************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินต้น วัดเขาวัง

ท้าวอินทรสุริยา (นางสาวเนื่อง  จินตดุลย์) ซึ่งเคยเป็นพระอภิบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชฯ ได้มาบำเพ็ญศีลภาวนาเป็นอุบาสิกาที่วัดเขาวังเป็นเวลานาน ได้พิจารณาเห็นว่าวัดเขาวังเป็นวัดเก่าแก่ และสำคัญของจังหวัดราชบุรีวัดหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมเป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5  และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2420 พระราชวังแห่งนี้ได้เป็นสถานที่เสด็จฯ ออกรับราชฑูตโปรตุเกส จึงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย

เพื่อเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดและชาวราชบุรี จึงกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ ทอดผ้ากฐินต้น ณ วัดเขาวัง โดยขอให้ท้าวอินทรสุริยา นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณรับที่จะเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดเขาวัง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ถวายผ้าพระกฐิน ทรงประเคนบริขารพระกฐินและเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เมื่อพระราชพิธีเสร็จแล้ว  นายจำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กราบบังคมทูลเบิกผู้ที่ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยเข้าเฝ้าฯ จากนั้นเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังโรงเรียนวัดเขาวัง (แสง ช่วงสุวนิช) ทรงเยี่ยมราษฎรซึ่งเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อยู่ในบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก และได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด




























ท้าวอินทรสุริยา (นางสาวเนื่อง จินตดุลย์)
อดีตพระบริบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
และอุบาสิกาที่มาบำเพ็ญศีลภาวนาที่วัดเขาวัง
เข้าร่วมถวายอนุโมทนา















พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเยี่ยมราษฎรซึ่งเฝ้าฯ รับเสด็จฯ
บริเวณวัดเขาวังและโรงเรียนวัดเขาวัง (แสง ช่วงสุวนิช)
ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด





******************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6

มูลเหตุการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ค่ายหลวงบ้านไร่ สืบเนื่องมาจากกระทรวงศึกษาธิการจะจัดงานฉลองหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีอายุครบ 7 รอบ ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2529 นายอภัย  จันทวิมล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สอบถามหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ถึงสิ่งที่ต้องการเป็นของขวัญ ท่านได้ตอบว่าประสงค์จะให้มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเสือป่า ในท่าทรงม้า ณ ค่ายหลวงบ้านโป่ง

คณะกรรมการจัดงานฉลองหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ยินดีสนองความประสงค์และได้ประสานงานกับกรมศิลปากร ซึ่งก็เห็นชอบกับการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ แต่ทักท้วงเรื่องแบบพระบรมรูป โดยขอให้เปลี่ยนจากพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากเป็นแบบเฉพาะของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า จึงได้เปลี่ยนมาเป็นท่าประทับบนเก้าอี้สนาม ฉลองพระองค์เครื่องแบบเสือป่า    หันพระพักตร์ไปทางบริเวณซึ่งเป็นที่ซ้อมรบ

ส่วนสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจากที่ดินที่บ้านโป่งมีปัญหา จึงได้พิจารณาสร้างที่บ้านไร่ และได้ก่อตั้งค่ายหลวงบ้านไร่ขึ้น ดังคำบรรยายของหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ในพิธีวางศิลาฤกษ์ที่ว่า "ในสมัยก่อนนั้น บรรดาที่ที่เสือป่าและทหารอยู่ก็เรียกว่าค่ายทุกแห่ง ที่ไหนเป็นค่ายหลวงแปลว่าพระเจ้าแผ่นดินเคยประทับ และที่นี่เราอัญเชิญพระเจ้าแผ่นดินมาประทับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ก็เป็นค่ายหลวงได้"

บริเวณบ้านไร่นี้ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลคลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำเสือป่าซ้อมรบ และได้เสด็จประทับแรมที่บ้านไร่ 9 ครั้ง ในระยะเวลา 6 ปี ระหว่าง พ.ศ.2462-2467 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการซ้อมรบเสือป่าได้ความว่า พระองค์ทรงโปรดบ้านไร่มากเป็นพิเศษ ชาวบ้านที่บ้านไร่เลี้ยงม้าไว้เป็นจำนวนมาก  และได้ทูลเกล้าถวายให้ใช้ในการซ้อมรบ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มักเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งมาตามทางเกวียน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าทางเสด็จ  ในสมัยต่อมาเมื่อมีการตัดถนนแทนทางเกวียน ทางเสด็จก็กลายเป็นทุ่งนา

มีกำนันคลองตาคตผู้หนึ่ง คือ นายสนัด  มะลิพันธ์ ได้สงวนเส้นทางช่วงที่ผ่านบ้านไร่ประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ พัฒนาเป็นถนนลูกรัง ที่ริมทางเสด็จนี้มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งเรียกว่า วัดส้มเกลี้ยง เป็นวัดร้าง  จากบริเวณนี้มองไปทางทิศเหนือจะเห็นทุ่งนาซึ่งเป็นสนามซ้อมรบ  ชาวบ้านเรียกว่า "ทุ่งซ้อมรบ" ในบริเวณวัดร้างมีบ่อน้ำเล็กๆ ชาวบ้านเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เคยสรงน้ำ ณ ที่นี้ และเคยประทับแรมในเต็นท์ จึงถือได้ว่าสถานที่นี้เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสำหรับเป็นที่ประทับด้วยพระองค์เอง














ค่ายหลวงที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดส้มเกลี้ยง (วัดร้าง) ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ และได้ขออนุญาตจากกรมการศาสนา รวมทั้งที่ดินที่ซื้อเพิ่มเติม รวมเป็น 39 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา โดยยกบริเวณที่จะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นเนินสูงประมาณ 3 เมตร กรมศิลปากรดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้าง โดยได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2530 แลได้มีพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากโรงหล่อมายังค่ายหลวงบ้านไร่ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2531

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ มีสมเด็จพระเจ้าภคิณีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธานรับเสด็จพระราชดำเนิน




















































พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมราษฏรที่เฝ้าฯ รับเสด็จพระราชดำเนิน


















ประชาชนที่เฝ้าฯ รับเสด็จพระราชดำเนิน


ภายหลังพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และค่ายหลวงบ้านไร่ มีการดำเนินการจัดสร้างและปรับปรุงอาคารในบริเวณค่ายหลวงบ้านไร่ ประกอบด้วย อาคารร่วมใจสามัคคี (ศาลาอำนวยการ-หอประชุม) สวัสดีบ้านไร่ (พลับพลารับเสด็จ) ไชโยไชโย (สถานที่จำหน่ายของที่ระลึก) สโมสรเสือป่า ธรรมาธิปไตย (โรงเรียนอนุบาล) อนามัยของเรา (สถานีอนามัย) และน้อมเกล้าสุภัทรา เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารธรรมาธิปไตย และอาคารคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ อาคารอนามัยของเรา และอาคารสโมสรเสือป่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535

ต่อมา ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้มอบกรรมสิทธิ์ค่ายหลวงบ้านไร่ให้คณะลูกเสือแห่งชาติ โดยการดูแลของกรมพลศึกษา ในการปรับปรุงสถานที่ก่อสร้างให้เป็นค่ายหลวงบ้านไร่ กรมพลศึกษาได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นค่ายลูกเสือและลูกเสือชาวบ้าน มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม เช่น อาคารหอประชุม อาคารพักแรม เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม ผู้มาอยู่ค่ายพักแรมให้รู้จักใช้ชีวิตกลางแจ้ง มีระเบียบวินัย รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น และใช้เป็นสถานที่ประชุม หรือจัดกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ ตลอดจนเป็นที่สำหรับแสดงความเคารพสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในวาระอันสมควร


*******************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7

ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 จังหวัดราชบุรี สังกัดกองอนามัยครอบครัว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2510 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี จึงแล้วเสร็จ เปิดให้บริการแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2512

ศูนย์อนามัยแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการผลิตผดุงครรภ์อนามัย ไปปฏิบัติงานชนบท มีภารกิจหลัก 2 ด้าน ประการแรกคือ ผลิตและอบรมผดุงครรภ์อนามัยไปปฏิบัติงานในสถานีอนามัยชนบท  เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านการทำคลอด การดูแลสุขภาพทารกและเด็ก การอนามัยโรงเรียน การป้องกันโรคต่างๆ การปฐมพยาบาล ตลอดจนโภชนาการ และคหกรรมศาสตร์ ส่วนภารกิจอีกประการหนึ่ง คือ ให้บริการอนามัยแม่และเด็กแก่ประชาชนที่สมบูรณ์แบบทั้ง การดูแลก่อนคลอด ทำคลอด การดูแลหลังคลอด ตลอดจนอบรมมารดาให้รู้จักการดูแลทารกเพื่อให้แม่และเด็กมีความปลอดภัย มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ และยังมีบริการอนามัยอื่นๆ เช่น ให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็ก การอนามัยครอบครัว การอนามัยโรงเรียน เป็นต้น โยให้บริการในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม  สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี รวมถึงจังหวัดราชบุรี และรับผิดชอบดูแลหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานที่ 1 ประจำเขตจังหวัดเพชรบุรี-ประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น และพระราชทานอุปกรณ์และของใช้ สำหรับออกให้บริการประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล เป็นภารกิจพิเศษที่สำคัญอีกประการหนึ่งในขณะนั้น

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของชาวราชบุรีด้วย

นอกจากจะทรงเห็นความสำคัญงานอนามัยแม่และเด็กโดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเปิดศูนย์อนามัยแม่และเด็กด้วยพระองค์เองแล้ว ก่อนหน้านี้พระบามสมเด็๗พระเจ้าอยู่หัว ยังทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ยังขาดงบประมาณในการก่อสร้างโรงอาหารและครัวสำหรับนักเรียนผดุงครรภ์อนามัยและผู้มาพักคลอด จึงไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์จำนวน 500,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าว และเสร็จเรียบร้อยในเดือนกันยายน พ.ศ.2512 ต่อมาใช้ชื่อ อาคารพระราชทานหลังนี้ว่า "อาคารเฉลิมราช 2511"

ภายหลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเปิดศูนย์ฯ และทรงพระราชทานอาคาร "เฉลิมราช 2511" เรียบร้อยแล้ว  ทรงมีกระแสรับสั่งให้เบิกตัวผู้อำนวยการศูนย์ฯ  ขณะนั้นคือ นายแพทย์ดิลก  ทิวทอง และพระราชทานสิ่งของเพื่อให้นำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวจังหวัดราชบุรีและศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 อย่างหาที่สุดมิได้  ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในความเดือดร้อน และความทุกข์ยากของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2512


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 จังหวัดราชบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมแผ่นป้ายอาคารที่ทำการศูนย์อนามัยฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์อนามัยฯ

อาคารที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 จังหวัดราชบุรี ในวันประกอบพิธี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ บริเวณศูนย์อนามัยฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ เป็นจำนวนมาก


 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปฎิสันถารกับผู้ที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปิดอาคารเฉลิมราช 2511



 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อาคารเฉลิมราช 2511 ในวันประกอบพิธีเปิด
 
 
*************************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดวิหารพระพุทธสิหิงค์ วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระครูโสภณรัตนากร เจ้าอาวาสวัดดอนตูม และคณะกรรมการวัด  เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระพุทธสิหิงค์ เพื่อนำไปประดิษฐานที่วิหารวัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดวิหารพระพุทธสิหิงค์  ภายหลังจากนายนารถ  มนตเสวี ประธานกรรมการจัดงานเปิดวิหารพระพุทธสิหิงค์ และสร้างพระอุโบสถ กราบบังคมทูลรายงานการสร้างวิหารพระพุทธสิหิงค์แล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อวิหารพระพุทธสิหิงค์  แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับในศาลาสหทัยศาลา

ประธานกรรมการกราบบังคมทูลเบิกผู้บริจาคเงินสร้างพระอุโบสถ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึกของวัด  หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรซึ่งมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก ทรงมีพระราชปฎิสันถารกับผู้ที่มาเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด 

ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร มีข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายของและเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย  และคณะกรรมการสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินที่เหลือจากการซื้อเครื่องบินทำฝนเทียมด้วย

อนึ่ง ได้ทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์อุโบสถวัดดอนตูม และได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ไว้ที่หน้าบันวิหารด้วย  
   


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดวิหารพระพุทธสิหิงค์   วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2515


พระพุทธสิหิงค์ วัดดอนตูม


อุโบสถวัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมพระพุทธสิหิงค์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธสิงหิงค์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เสด็จพระราชดำเนินลงจากวิหารพระพุทธสิงหิงค์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสกับพระครูโสภณรัตนากร เจ้าอาวาสวัดดอนตูม

















พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ บริเวณวัดดอนตูม


*********************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินต้น วัดสันติการาม

วัดสันติการาม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพุพลับ ตั้งอยู่ที่บ้านพุพลับ ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ อยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ถึง 50 กิโลเมตร แต่ในอดีตถือเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ไกลความเจริญ การติดต่อการคมนาคมลำบาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเขา ทุรกันดารมาก ทั้งยังเป็นดินแดนคุกคามและแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ข้าราชการหรือประชาชนต่างถิ่นไท่กล้าเดินทางเข้าไปในพื้นที่ เพราะถือว่าเป็นดินแดนอันตรายแห่งหนึ่ง

ถึงกระนั้นก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินต้น ณ วัดสันติการาม อ.ปากท่อ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2517 และทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อย่างล้นหลาม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินต้น ณ วัดสันติการาม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2517

















พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินต้น ณ วัดสันติการาม อ.ปากท่อ



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงถวายเครื่องไทยธรรมและ ทรงมีพระราชดำรัสกับพระครูรัตนโชติ เจ้าอาวาสวัดสันติการาม


















พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ บริเวณวัดสันติการาม และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด


*************************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรอำเภอบ้านคา ราชบุรี

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านคาและบ้านโป่งกระทิงล่าง ต.บ้านบึง กิ่ง อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง (ในขณะนั้น) 

ทรงเสด็จถึงศาลาประชาคมบ้านคา และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรเป็นจำนวนมากที่มาเฝ้าทูละอองธุลีพระบาท ได้มีพระราชปฏิสันถารอย่างใกล้ชิดกับบรรดาราษฎร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ กลุ่มเกษตรกรต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญของการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในการสร้างยุ้งข้าวประจำหมู่บ้านเพื่อเก็บไว้บริโภคตลอดปี อีกทั้งความสำคัญของการสมทบทุนซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เพื่อใช้ในกลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการประหยัดทุนทรัพย์ และประหยัดเวลาของสมาชิกกลุ่มฯ ในอันที่จะต้องเดินทางไปยังโรงสีข้าวดังที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน 

และทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี (นายจำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และนายสมชาย  พุ่มพวง เกษตรกรอำเภอจอมบึง จัดหาพันธุ์ข้าวที่ดีมาแจกจ่ายให้แก่ราษฎรปลูกในฤดูฝนแล้ง

ส่วนที่บ้านโป่งกระทิงล่างได้เสด็จออกหน้าพลับพลาเพื่อพระราชทานสิ่งของให้ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงล่างนำไปแจกจ่ายนักเรียน แล้วทรงพระราชดำเนินไปยังที่ปฏิบัติการของอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้าน และของหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อพระราชทานของแก่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครและตำรวจ แล้วทรงพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรหมู่บ้านของราษฎรเผ่ากะเหรี่ยง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ นายเกษม  กิติรุ่งรุช ปลัดกิ่งอำเภอสวนผึ้ง และนายดง  บุญเลิศ ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งกระทิงล่าง ให้จัดหาไก่พ่อพันธุ์มาผสมพันธุ์กับไก่พิ้นเมือง เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีของบริโภคที่ดีขึ้น อีกทั้งพระราชทานกระแสพระราชดำรัส ในอันที่จะพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเป็ฯจำนวนครึ่งหนึ่งของราคาเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก สมทบทุนของราษฎรที่จะจัดซื้อไว้สำหรับหมู่บ้าน

ทั้งได้มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเข้าเฝ้าฯ แล้วเสด็จไปยังสำนักสงฆ์พระธาตุเขาน้อย เสด็จขึ้นศาลาการเปรียญ  ทรงจุดธูปเทียน ทรงนมัสการพระรัตนตรัย และมีพระราชดำรัสกับพระภิกษุเกี่ยวกับทุกข์สุขของราษฎร แล้วเสด็จลงทรงเยี่ยมราษฎร และทรงปลูกต้นไม้ ได้แก่ต้นปีบและต้นอินทนิล ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสให้ลุงป๊ก  เต่ยเลี้ยง ทูลเกล้าฯ ถวายเขากวาง ณ บ้านโป่งกระทิงล่าง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านโป่งกระทิงล่าง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2518 มีข้าราชากรและพสกนิกรบ้านคารอรับเสด็ตฯ จำนวนมาก



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่นายเกษม  กิติรุ่งรุช ปลัดกิ่งอำเภอสวนผึ้งและนายดง  บุญเลิศ ผู้ใหญ่บ้านน้านโป่งกระทิงล่าง ในการให้ความช่วยเหลือราษฎร


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชดำเนินไปยังที่ปฏิบัติการของอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้าน และของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เพื่อพระราชทานของแก่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครและตำรวจ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรชาวบ้านคา ณ ที่ตั้งฐานปฏิบัติการ กรป.กลาง ในขณะนั้น ซึ่งเป็นบริเวณสวนป่าหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านคาในปัจจุบัน  ในวันเสด็จฯ มีฝนตกตลอดเวลา  พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงฉลองพระองค์กันฝน ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรชาวบ้านคา ขณะนั้นขึ้นกับกิ่งอำเภอสวนผึ้ง  ราษฎรได้เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ด้วยความปลื้มปิติเป็นจำนวนมาก



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินสำนักสงฆ์พระธาตุเขาน้อย (ปัจจุบันคือวัดป่าพระธาตุเขาน้อย อ.บ้านคา) ทรงมีพระราชดำรัสกับพระครูวิโรจน์  ธัมมาจารย์ (หลวงปู่ปิ่น) เกี่ยวกับทุกข์สุขของราษฎร
















พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นอินทนิล (ภาพบน) และต้นกาซะลอง (ต้นปีบ) (ภาพล่าง) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2518 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินสำนักสงฆ์พระธาตุเขาน้อย


*******************************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>