ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 จังหวัดราชบุรี สังกัดกองอนามัยครอบครัว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2510 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี จึงแล้วเสร็จ เปิดให้บริการแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2512
ศูนย์อนามัยแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการผลิตผดุงครรภ์อนามัย ไปปฏิบัติงานชนบท มีภารกิจหลัก 2 ด้าน ประการแรกคือ ผลิตและอบรมผดุงครรภ์อนามัยไปปฏิบัติงานในสถานีอนามัยชนบท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านการทำคลอด การดูแลสุขภาพทารกและเด็ก การอนามัยโรงเรียน การป้องกันโรคต่างๆ การปฐมพยาบาล ตลอดจนโภชนาการ และคหกรรมศาสตร์ ส่วนภารกิจอีกประการหนึ่ง คือ ให้บริการอนามัยแม่และเด็กแก่ประชาชนที่สมบูรณ์แบบทั้ง การดูแลก่อนคลอด ทำคลอด การดูแลหลังคลอด ตลอดจนอบรมมารดาให้รู้จักการดูแลทารกเพื่อให้แม่และเด็กมีความปลอดภัย มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ และยังมีบริการอนามัยอื่นๆ เช่น ให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็ก การอนามัยครอบครัว การอนามัยโรงเรียน เป็นต้น โยให้บริการในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี รวมถึงจังหวัดราชบุรี และรับผิดชอบดูแลหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานที่ 1 ประจำเขตจังหวัดเพชรบุรี-ประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น และพระราชทานอุปกรณ์และของใช้ สำหรับออกให้บริการประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล เป็นภารกิจพิเศษที่สำคัญอีกประการหนึ่งในขณะนั้น
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของชาวราชบุรีด้วย
นอกจากจะทรงเห็นความสำคัญงานอนามัยแม่และเด็กโดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเปิดศูนย์อนามัยแม่และเด็กด้วยพระองค์เองแล้ว ก่อนหน้านี้พระบามสมเด็๗พระเจ้าอยู่หัว ยังทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ยังขาดงบประมาณในการก่อสร้างโรงอาหารและครัวสำหรับนักเรียนผดุงครรภ์อนามัยและผู้มาพักคลอด จึงไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์จำนวน 500,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าว และเสร็จเรียบร้อยในเดือนกันยายน พ.ศ.2512 ต่อมาใช้ชื่อ อาคารพระราชทานหลังนี้ว่า "อาคารเฉลิมราช 2511"
ภายหลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเปิดศูนย์ฯ และทรงพระราชทานอาคาร "เฉลิมราช 2511" เรียบร้อยแล้ว ทรงมีกระแสรับสั่งให้เบิกตัวผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขณะนั้นคือ นายแพทย์ดิลก ทิวทอง และพระราชทานสิ่งของเพื่อให้นำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวจังหวัดราชบุรีและศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในความเดือดร้อน และความทุกข์ยากของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2512
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 7 จังหวัดราชบุรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมแผ่นป้ายอาคารที่ทำการศูนย์อนามัยฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์อนามัยฯ
อาคารที่ทำการศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 จังหวัดราชบุรี ในวันประกอบพิธี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ บริเวณศูนย์อนามัยฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ เป็นจำนวนมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปฎิสันถารกับผู้ที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปิดอาคารเฉลิมราช 2511
อาคารเฉลิมราช 2511 ในวันประกอบพิธีเปิด
*************************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
- คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)