วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

ริมน้ำแม่กลองในอดีต

ภาพการค้าขายโอ่งมังกรราชบุรี ในลำน้ำแม่กลองบริเวณเขื่อนริมน้ำหน้าศาลากลาง จ.ราชบุรี หลังเดิม หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในปัจจุบัน ในภาพจะเห็นเรือของชาวไทยรามัญที่มารับซื้อโอ่งมังกรราชบุรี และบรรทุกใส่เรือนำไปขายที่กรุงเทพฯ พ่อค้าชาวไทยรามัญเหล่านี้จะอาศัยกินนอนอยู่ในเรือ แต่ปัจจุบันเมื่อการคมนาคมทางน้ำได้ลดความสำคัญลง การติดต่อค้าขายจะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกแทน พ่อค้าชาวไทยรามัญเหล่านี้ ได้ย้ายขึ้นบกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ซ.วาสนาดี ถ.มนตรีสุริยวงศ์ และเรียกว่าชุมชนไทยรามัญ(เจ้าของภาพ : มูลนิธิประชานุกูล)

เรือเครื่องจอดเรียงรายรอรับส่งผู้โดยสารอยู่ในแม่น้ำแม่กลองที่ อ.บ้านโป่ง (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

บรรยากาศริมน้ำแม่กลอง ช่วงที่ไหลผ่านอำเภอบ้านโป่ง ในราว 50 กว่าปีที่ผ่านมา (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตลิ่งริมน้ำแม่กลองในอำเภอบ้านโป่งในอดีตราว 50 กว่าปีที่ผ่านมา ยังคงมีเรือบรรทุกสินค้าต่างๆ จอดขนถ่ายสินค้า จำพวกจากสำหรับมุงหลังคา ไม้ไผ่ ไม้รวก ฯลฯ ขึ้นล่องมาจากใน จ.ราชบุรีเอง และจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น กาณจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ภาพบิดาของคุณจรัสแสง เกษมสุวรรณ ชื่อนายเช็งเอ้ง แซ่เฮ้ง ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองราชบุรี เมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว ยึดอาชีพพายเรือขายกาแฟอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง ช่วงคุ้งน้ำแถววัดโคกหม้อลงมาจนถึงแนวสะพานรถไฟ

ริมน้ำแม่กลองในช่วงราวปี พ.ศ.2500 กว่าๆ มีเรือบรรทุกทราย หิน โอ่ง และเรืออาศัยจอดลอยลำเรียงรายยาวตลอดริมฝั่งแม่น้ำหน้าเมืองราชบุรี (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 45-46,76).
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

ภาพไฟไหม้ราชบุรี พ.ศ.2499

เหตุการณ์ไฟไหม้ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2499 บริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ คือ ถนนราษฎรยินดี ต้นเพลิงอยู่บริเวณนำชัยเภสัชในปัจจุบัน ไฟไหม้ลุกลามไปจนถึงซอย 2 ตรงที่เป็นโรงแรมหงส์ฟ้าในปัจจุบัน เพลิงลุกไหม้ข้ามวันข้ามคืน ตั้งแต่ราวบ่ายสามโมงเย็นไปถึงรุ่งเช้าของอีกวัน สาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ เกิดจากการวางเพลิง



ควันสีดำที่เห็นอยู่ในท้องฟ้า คือ กลุ่มควันที่เกิดจากไฟไหม้ที่บริเวณถนนราษฎรยินดี เพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรงจนควันไฟพวยพุ่งข้ามมาปกคลุมยังบริเวณถนนอัมรินทร์

ซากอาคารที่ถูกไฟไหม้จนราบเรียบ เหลือเพียงเสาที่ถูกไฟไหม้แล้ว ตั้งอยู่ระเกะระกะทั่วไป และซากเสาสองต้นที่เห็นในภาพ คือปล่องไฟของโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว

บรรดาผู้ประสบอัคคีภัยได้ขนย้ายข้าวของหนีมากองรวมไว้

เจ้าหน้าที่ทหารกำลังช่วยขนย้ายซากปรักหักพังที่เกิดเหตุจากเพลิงไหม้ออกจากพื้นที่เกิดเหตุ

ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 49-50).
เจ้าของภาพ : มูลนิธิประชานุกูล
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จราชบุรี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุม มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ อาคารเฉลิมราช ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม พ.ศ.2516
มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (Princesss Mother's Medical Volunteer-PMMV) ชื่อย่อ พอ. ย่อมาจากแพทย์อาสา ส่วน สว. ย่อมาจาก สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในขณะนั้น) เป็นกิจการแพทย์ที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงพบเห็นความยากลำบากของราษฎร ในด้านการสาธารณสุข ในระหว่างที่ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดน ตามจังหวัดชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา จึงทรงโปรดให้ตั้งแพทย์อาสาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 กิจการแพทย์อาสาประกอบด้วยแพทย์และพยาบาล อาสาสมัครจากโรงพยาบาลภายในจังหวัดที่มีกิจการแพทย์อาสา เรียกว่า จังหวัดแพทย์อาสา ทรงวางกฏเกณฑ์ไว้ว่า จังหวัดที่ต้องการตั้งหน่วยแพทย์อาสาควรจะเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับชายแดน หรือการคมนาคมไม่สะดวก มีที่ทุรกันดาร หรือจำเป็นต้องอาศัยกิจการแพทย์อาสา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมด้วยคณะแพทย์ของจังหวัดนั้นๆ ขอพระราชการจังหวัดของตน เป็นจังหวัดแพทย์อาสาเสียก่อน เมื่อทรงพิจารณาว่าเห็นเหมาะสม จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นจังหวัดแพทย์อาสา โดยอาสาสมัคร พอ.สว.ซึ่งทำงานโดยไม่ได้รับรายได้ จะออกปฏิบัติการเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ แต่ละหน่วยจะประกอบด้วย แพทย์ 1 คน เภสัชกรหรือพยาบาลที่มีความรู้เรื่องนี้ 1 คน พยาบาล 1 คน และอาสาสมัครสมทบ 1 คน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ อาสาสมัครแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตอนามัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เป็นต้น อีกประเภท อาสาสมัครสายสนับสนุน ซึ่งมีทั้งข้าราชการและบุคลากรในภาคเอกชน อาสาสมัคร พอ.สว.ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าเสื้อสีเขียว มีเครื่องหมายของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประชาชนจะเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า หมอกระเป๋าเขียว
จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชายแดนทิศตะวันตกติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได่แก่ประเทศสหภาพพม่า และโดยเฉพาะในพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตก ได้แก่ เขตท้องที่ อ.จอมบึง มีลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่สูง ประกอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ และ อ.สวนผึ้งเป็นพื้นที่ป่าและภูเขาเป็นส่วนมาก ในอดีตถือว่าเป็นท้องถิ่นทุรกันดารอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองราชบุรี การคมนาคมไปมาไม่สะดวก จ.ราชบุรี ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นจังหวัดแพทย์อาสาลำดับที่ 17 ในปี พ.ศ.2512



ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 27-28).
อ่านต่อ >>

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินวัดโชติทายการาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดโชติทายการาม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2510 เมื่อเสร็จพิธี ได้เสด็จพระราชดำเนินออกมาประทับด้านหน้าพระอุโบสถ รับการทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เสร็จแล้วเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและเสวยพระกระยาหารที่พลับพลาที่ประทับหน้าวัด ในระหว่างเสวยมีการแสดงของประชาชนกลุ่มต่างๆ บนเวทีด้านหน้าที่ประทับ และในลำคลองดำเนินสะดวก มีการเห่เรือ การแข่งขันพายเรือหัวใบ้ท้ายบอด พายเรือวิบาก การแสดงของหน่วยกู้ภัย ถวายให้ทอดพระเนตร
วัดโชติทายการาม ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งขวาของคลองดำเนินสะดวก ตามประวัติกล่าวว่าสร้างโดยคหบดีในท้องถิ่นได้ถวายที่ดินตนเพื่อสร้างวัดและชักชวนบอกบุญชาวบ้านเพื่อร่วมกันสร้างวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2417 ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นที่คลองดำเนินสะดวก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2447 กระบวนเรือพระที่นั่งได้หยุดพักที่ศาลาท่าน้ำของวัดโชติทายการาม และได้เสด็จไปประทับบนศาลาท่าน้ำ และเสวยพระกระยาหารบนศาลาท่าน้ำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน



นายอวยชัย แซ่ลิ้ม สื่อมวลชนท้องถิ่นและเจ้าของภาพเทคนิคในตลาดดำเนินสะดวก เข้าเฝ้าพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดโชติทายการาม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2510 (ภาพของคุณอวยชัย แซ่ลิ้ม ห้องภาพนิวเทคนิค)
ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 26,29).
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินเขาวังเมืองราชบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดเขาวัง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2514 แต่เดิมบนเขาสัตตนารถนั้น มีวัดตั้งอยู่บนยอดเขาวังอยู่วัดหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นบนเขาสัตตนารถ เพื่อเป็นที่แปรพระราชฐานประทับเมืองราชบุรี ได้ทำการผาติกรรมที่ธรณีสงฆ์ โดยย้ายวัดไปสร้างใหม่ที่บริเวณวัดร้าง ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และพระราชทานนามว่า "วัดสัตตนารถปริวัตร" เมื่อได้ทำการผาติกรรมแล้ว จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กับพระเจ้าภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ประกอบด้วยท้องพระโรง พระที่นั่งอยู่ถัดท้องพระโรงเข้าไป เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว นอกจากนี้ยังมีโรงทหารรักษาพระองค์ โรงรถม้า กระโจมทหารรักษาการณ์ โรงทหารมหาดเล็ก ทิมดาบตำรวจ
พระราชวังบนภูเขาสัตตนารถ นี้ เคยเป็นที่รับราชฑูตโปรตุเกส เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2420 ภายหลังไม่ได้เสด็จแปรพระราชฐานอีก พระราชวังแห่งนี้จึงได้ทรุดโทรมลงมาก ต่อมาได้มีพระธุดงค์มาใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมพร้อมกับดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้เป็นวัดและตั้งชื่อวัดตามสถานที่ๆ ใช้เป็นที่ตั้งของวัดว่า "วัดเขาวังราชบุรี" และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2453
ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 24).
อ่านต่อ >>

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ร.5 เสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสวยพระกระยาหารเช้า บริเวณลานหน้าบันไดขึ้นสู่ถ้ำมุจลินทร์ เขากลางเมือง ปัจจุบันคือ ถ้ำจอมพล เขาจอมพล ต.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2438 ในภาพรัชกาลที่ 5 ประทับอยู่หัวโต๊ะสวมพระมาลา ฉายพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประทับบนแคร่ไม้เหนือปากถ้ำจอมพล ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารในการเสด็จประพาสถ้ำจอมพล เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2438 และโปรดฯให้ช่างสลักพระปรมาภิไธยย่อ "จปร.๑๑๔" ไว้เหนือปากถ้ำ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร.ที่ 21 นอกจากนี้ยังทรงพระอักษรพระราชทานนามถ้ำว่า "ถ้ำจอมพล" และโปรดฯ ให้ช่างสลักตัวอักษรแล้วทรงฉายพระรูปที่ปากถ้ำตรงที่สลักตัวอักษรนั้น (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเขาวังสะดึง เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2442 ขบวนเรือพระที่นั่งเสด็จประพาสออกจากท่าพลับพลาค่ายหลวงหลุมดิน เข้าคลองข้างวัดหลุมดิน ผ่านเข้าทุ่งอรัญญิก เสด็จขึ้นประพาสบนเขาวังสะดึง โดยประทับบนแคร่หามขึ้นไป จนถึงหน้าผาที่ทางการเตรียมราวบันไดและแคร่ไม้เป็นที่ประทับ โปรดฯ ให้ช่างสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร.๑๑๘ ไว้ที่หน้าผา นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร.ที่ 33

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสถ้ำสาริกา (เดิมชื่อถ้ำหนองตีเหล็ก) ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2442 ในช่วงเวลาที่เสด็จประพาสนั้น เป็นฤดูน้ำหลากทุ่งเขางู ขบวนเรือพระที่นั่งออกจากพลับพลาค่ายหลวงหลุมดิน เสด็จประพาสถ้ำหนองตีเหล็ก ทอดพระเนตรภายในถ้ำจนทั่วแล้วจึงเสด็จขึ้นมาประทับที่แคร่ไม้ปากถ้ำ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถ้ำใหม่ว่า ถ้ำสาริกา แล้วโปรดฯ ให้ช่างสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร.๑๑๘ ไว้เหนือปากถ้ำ นับเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร.ที่ 34

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระราชโอรสและข้าราชการบริพารบริเวณพระราชวังบนเขาสัตตนารถ(เขาวัง ราชบุรี) (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระราชโอรสและข้าราชบริพาร บริเวณเขางู ราชบุรี
แถวนั่งจากซ้ายไปขวา ม.ร.ว.ฉายฉาน ศิริวงษ์ ม.จ.ไศลทอง ทองใหญ่ ม.จ.ทองต่อ ทองแถม คุณเทิน บุนนาค กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
แถวยืน จากซ้ายไปขวา กรมพระกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน พระยาสุริยานุวัตร์(เกิด บุนนาค) กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดช พระยาสุรเสนา(กลิ่น แสงชูโต) เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระยาบุรุษรัตนราชวัต กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมหลวงนครไชยศรี (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


ขบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองราชบุรี ผ่านบริเวณทุ่งเขางู ในคราวเสด็จประพาสวังสะดึงและถ้ำสาริกาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเดือน ต.ค.2442 ในอดีตทุ่งเขางู ในช่วงฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำหลากเข้าทุ่งจนเจิ่งนองกลายเป็นทะเลสาบย่อมๆ อยู่นานหลายเดือน และจะมีงานเทศกาลไหว้พระในหน้าน้ำประมาณเดือน ก.ค.ถึงเดือน พ.ย. แต่ปัจจุบันน้ำไม่หลากเข้าท่วมทุ่งเขางูอีกต่อไปแล้ว นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ข้าราชการเตรียมเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2444 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองที่เมืองราชบุรี ในวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเปิดเมื่อ พ.ศ.2444 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "สะพานจุฬาลงกรณ์"

ขบวนรถไฟพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่สถานีรถไฟราชบุรี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทำพิธีเปิดสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2444 พระองค์เจ้าอุรุพงศ์สมโภช ผู้ตามเสด็จทรงยืนอยู่ทางขวา

ข้าราชการยืนแถวเฝ้ารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่สถานีรถไฟราชบุรี

กองดุริยางค์รอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ จ.ราชบุรี

ประชาชนเฝ้ารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการเสด็จประพาสเมืองราชบุรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กำลังสนพระทัยในการถ่ายรูปสถานที่ขณะเสด็จประพาสเมืองราชบุรี (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองราชบุรี มีพระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม (แฉ่ บุนนาค) สมุหเทศาภิบาล มณฑลราชบุรี ยืนรับเสด็จอยู่ทางซ้ายของภาพ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2431 และได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนบรรยายถึงวัดมหาธาตุในบทพระราชนิพนธ์ตามเสด็จไทรโยค ครั้งที่ 3 ไว้ว่า พระองค์ได้เสด็จฯ เข้าไปในวัดมหาธาตุทางทิศตะวันออก และยังได้ทรงบรรยายสภาพวัดมหาธาตุไว้อย่างละเอียด " ...พระมหาธาตุตั้งหลังวิหาร อย่างโบราณแบบเขมรเช่นแต่ก่อน ตรงด้านหน้าคูหาสักสองตอน บันไดจรขึ้นได้ที่ในองค์.." และ "....พระรเบียงรอบห้อมล้อมจังหวัด สี่เหลี่ยมชัดช่องประตูอยู่ด้านหน้า ด้านอื่นไปไม่มีทางเข้ามา พระศิลแดงตั้งผนังราย..."
พระราชวังบนเขาสัตตนารถ ก่อนหน้าที่จะสร้างพระราชวังนั้น เดิมมีวัดตั้งอยู่บนยอดเขาวัดหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเจ้าพระยาภาณุวงศ์ มหาโกษาธิบดี ผาติกรรมที่ธรณีสงฆ์ โดยย้ายวัดไปสร้างใหม่ที่บริเวณวัดร้างริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และพระราชทานนามว่า "วัดสัตตนารถปริวรรต"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประทับ ณ พระราชวังบนเขาสัตตนารถแห่งนี้ครั้งหนึ่ง ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสไทรโยค แล้วเสด็จออกรับราชฑูตโปรตุเกสที่เข้าเฝ้าถวานพระราชสาสน์ เมื่อปี พ.ศ.2420 ภายหลังพระราชวังแห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก และต่อมาได้มีพระธุดงค์มาใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม พร้อมกับดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นวัดนามว่า "วัดเขาวังราชบุรี" และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2453

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับราชบุรี
ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 11-19).

อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินประพาสเขางู

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินประพาสเขางู เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2499 ในคราวเดียวกับที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสถ้ำจอมพล บนเทือกเขางูปรากฏร่องรอยศาสนสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวาราวดี จำนวน 4 ถ้ำ เป็นภาพสลักบนผังถ้ำและปูนปั้นเรื่องราวในพุทธศาสนา อันสะท้อนให้เห็นว่าเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ผู้แสวงหาความวิเวกเพื่อการปฏิบัติธรรมสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในถ้ำฤาษี ปรากฎภาพจำหบักพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีจารึกกล่าวถึงพระศรีสมาธิคุปตะ ภาพพุทธประวัติ ตอนเสด็จดับขัยธ์ปรินิพพาน บนผนังถ้ำฝาโถและถ้ำจาม โดยเฉพาะที่ถ้ำจามถือเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และที่ถ้ำจามยังมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหารย์ที่เมืองสาวัตถีอีกด้วย


ที่มา :
พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 24).

อ่านต่อ >>

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินประพาสถ้ำจอมพล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จประพาสถ้ำจอมพล และทรงเยี่ยมราษฎรที่ อ.จอมบึง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2499 ในวโรกาสนั้น ได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อที่หน้าถ้ำจอมพลว่า "ภปร ๑ มิ.ย.๙๙" และได้ทรงปลูกต้นสัก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นกัลปพฤกษ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปลูกต้นนนทรีไว้เป็นที่ระลึก ณ สวนรุกขชาติ ที่บริเวณหน้าถ้ำจอมพล พร้อมโปรดให้ราษฎรได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด









ที่มา :
พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 22-23).

อ่านต่อ >>