วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ร.9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6

มูลเหตุการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ค่ายหลวงบ้านไร่ สืบเนื่องมาจากกระทรวงศึกษาธิการจะจัดงานฉลองหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีอายุครบ 7 รอบ ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2529 นายอภัย  จันทวิมล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สอบถามหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ถึงสิ่งที่ต้องการเป็นของขวัญ ท่านได้ตอบว่าประสงค์จะให้มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเสือป่า ในท่าทรงม้า ณ ค่ายหลวงบ้านโป่ง

คณะกรรมการจัดงานฉลองหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ยินดีสนองความประสงค์และได้ประสานงานกับกรมศิลปากร ซึ่งก็เห็นชอบกับการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ แต่ทักท้วงเรื่องแบบพระบรมรูป โดยขอให้เปลี่ยนจากพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากเป็นแบบเฉพาะของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า จึงได้เปลี่ยนมาเป็นท่าประทับบนเก้าอี้สนาม ฉลองพระองค์เครื่องแบบเสือป่า    หันพระพักตร์ไปทางบริเวณซึ่งเป็นที่ซ้อมรบ

ส่วนสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจากที่ดินที่บ้านโป่งมีปัญหา จึงได้พิจารณาสร้างที่บ้านไร่ และได้ก่อตั้งค่ายหลวงบ้านไร่ขึ้น ดังคำบรรยายของหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ในพิธีวางศิลาฤกษ์ที่ว่า "ในสมัยก่อนนั้น บรรดาที่ที่เสือป่าและทหารอยู่ก็เรียกว่าค่ายทุกแห่ง ที่ไหนเป็นค่ายหลวงแปลว่าพระเจ้าแผ่นดินเคยประทับ และที่นี่เราอัญเชิญพระเจ้าแผ่นดินมาประทับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ก็เป็นค่ายหลวงได้"

บริเวณบ้านไร่นี้ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลคลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำเสือป่าซ้อมรบ และได้เสด็จประทับแรมที่บ้านไร่ 9 ครั้ง ในระยะเวลา 6 ปี ระหว่าง พ.ศ.2462-2467 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการซ้อมรบเสือป่าได้ความว่า พระองค์ทรงโปรดบ้านไร่มากเป็นพิเศษ ชาวบ้านที่บ้านไร่เลี้ยงม้าไว้เป็นจำนวนมาก  และได้ทูลเกล้าถวายให้ใช้ในการซ้อมรบ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มักเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งมาตามทางเกวียน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าทางเสด็จ  ในสมัยต่อมาเมื่อมีการตัดถนนแทนทางเกวียน ทางเสด็จก็กลายเป็นทุ่งนา

มีกำนันคลองตาคตผู้หนึ่ง คือ นายสนัด  มะลิพันธ์ ได้สงวนเส้นทางช่วงที่ผ่านบ้านไร่ประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ พัฒนาเป็นถนนลูกรัง ที่ริมทางเสด็จนี้มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งเรียกว่า วัดส้มเกลี้ยง เป็นวัดร้าง  จากบริเวณนี้มองไปทางทิศเหนือจะเห็นทุ่งนาซึ่งเป็นสนามซ้อมรบ  ชาวบ้านเรียกว่า "ทุ่งซ้อมรบ" ในบริเวณวัดร้างมีบ่อน้ำเล็กๆ ชาวบ้านเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เคยสรงน้ำ ณ ที่นี้ และเคยประทับแรมในเต็นท์ จึงถือได้ว่าสถานที่นี้เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสำหรับเป็นที่ประทับด้วยพระองค์เอง














ค่ายหลวงที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดส้มเกลี้ยง (วัดร้าง) ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ และได้ขออนุญาตจากกรมการศาสนา รวมทั้งที่ดินที่ซื้อเพิ่มเติม รวมเป็น 39 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา โดยยกบริเวณที่จะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นเนินสูงประมาณ 3 เมตร กรมศิลปากรดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้าง โดยได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2530 แลได้มีพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากโรงหล่อมายังค่ายหลวงบ้านไร่ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2531

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ มีสมเด็จพระเจ้าภคิณีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธานรับเสด็จพระราชดำเนิน




















































พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมราษฏรที่เฝ้าฯ รับเสด็จพระราชดำเนิน


















ประชาชนที่เฝ้าฯ รับเสด็จพระราชดำเนิน


ภายหลังพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และค่ายหลวงบ้านไร่ มีการดำเนินการจัดสร้างและปรับปรุงอาคารในบริเวณค่ายหลวงบ้านไร่ ประกอบด้วย อาคารร่วมใจสามัคคี (ศาลาอำนวยการ-หอประชุม) สวัสดีบ้านไร่ (พลับพลารับเสด็จ) ไชโยไชโย (สถานที่จำหน่ายของที่ระลึก) สโมสรเสือป่า ธรรมาธิปไตย (โรงเรียนอนุบาล) อนามัยของเรา (สถานีอนามัย) และน้อมเกล้าสุภัทรา เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารธรรมาธิปไตย และอาคารคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ อาคารอนามัยของเรา และอาคารสโมสรเสือป่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535

ต่อมา ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้มอบกรรมสิทธิ์ค่ายหลวงบ้านไร่ให้คณะลูกเสือแห่งชาติ โดยการดูแลของกรมพลศึกษา ในการปรับปรุงสถานที่ก่อสร้างให้เป็นค่ายหลวงบ้านไร่ กรมพลศึกษาได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นค่ายลูกเสือและลูกเสือชาวบ้าน มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม เช่น อาคารหอประชุม อาคารพักแรม เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม ผู้มาอยู่ค่ายพักแรมให้รู้จักใช้ชีวิตกลางแจ้ง มีระเบียบวินัย รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น และใช้เป็นสถานที่ประชุม หรือจัดกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ ตลอดจนเป็นที่สำหรับแสดงความเคารพสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในวาระอันสมควร


*******************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)

ไม่มีความคิดเห็น: