สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุม มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ อาคารเฉลิมราช ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม พ.ศ.2516
มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (Princesss Mother's Medical Volunteer-PMMV) ชื่อย่อ พอ. ย่อมาจากแพทย์อาสา ส่วน สว. ย่อมาจาก สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในขณะนั้น) เป็นกิจการแพทย์ที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงพบเห็นความยากลำบากของราษฎร ในด้านการสาธารณสุข ในระหว่างที่ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดน ตามจังหวัดชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา จึงทรงโปรดให้ตั้งแพทย์อาสาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 กิจการแพทย์อาสาประกอบด้วยแพทย์และพยาบาล อาสาสมัครจากโรงพยาบาลภายในจังหวัดที่มีกิจการแพทย์อาสา เรียกว่า จังหวัดแพทย์อาสา ทรงวางกฏเกณฑ์ไว้ว่า จังหวัดที่ต้องการตั้งหน่วยแพทย์อาสาควรจะเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับชายแดน หรือการคมนาคมไม่สะดวก มีที่ทุรกันดาร หรือจำเป็นต้องอาศัยกิจการแพทย์อาสา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมด้วยคณะแพทย์ของจังหวัดนั้นๆ ขอพระราชการจังหวัดของตน เป็นจังหวัดแพทย์อาสาเสียก่อน เมื่อทรงพิจารณาว่าเห็นเหมาะสม จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นจังหวัดแพทย์อาสา โดยอาสาสมัคร พอ.สว.ซึ่งทำงานโดยไม่ได้รับรายได้ จะออกปฏิบัติการเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ แต่ละหน่วยจะประกอบด้วย แพทย์ 1 คน เภสัชกรหรือพยาบาลที่มีความรู้เรื่องนี้ 1 คน พยาบาล 1 คน และอาสาสมัครสมทบ 1 คน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ อาสาสมัครแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตอนามัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เป็นต้น อีกประเภท อาสาสมัครสายสนับสนุน ซึ่งมีทั้งข้าราชการและบุคลากรในภาคเอกชน อาสาสมัคร พอ.สว.ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าเสื้อสีเขียว มีเครื่องหมายของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประชาชนจะเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า หมอกระเป๋าเขียว จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชายแดนทิศตะวันตกติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได่แก่ประเทศสหภาพพม่า และโดยเฉพาะในพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตก ได้แก่ เขตท้องที่ อ.จอมบึง มีลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่สูง ประกอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ และ อ.สวนผึ้งเป็นพื้นที่ป่าและภูเขาเป็นส่วนมาก ในอดีตถือว่าเป็นท้องถิ่นทุรกันดารอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองราชบุรี การคมนาคมไปมาไม่สะดวก จ.ราชบุรี ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นจังหวัดแพทย์อาสาลำดับที่ 17 ในปี พ.ศ.2512
ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 27-28).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น