วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

ถนนวรเดชและหอนาฬิกา

ภาพบรรยากาศเมืองราชบุรี บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง ถนนวรเดช ในตอนกลางวัน ประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว ภายในภาพปรากฏสถานที่สำคัญของเมืองราชบุรี คือ หอนาฬิกาและบรรยากาศของตัวตลาดราชบุรี ที่มีอาคารร้านค้าเป็นตึกสูงสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องว่าว ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตึกแถวที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4-5 แบบเดียวกันตลอดทั้งแถวถนนวรเดชริมน้ำแม่กลอง ทิวสนที่ปลูกเรียงรายคู่กับถนนวรเดช และในภาพยังมีภาพวิถีชีวิตของการใช้สายน้ำแม่กลองเป็นเส้นทางคมนาคม โดยมีเรือขนส่งสินค้าและเรือเมล์ที่ขนส่งผู้คนออกมาจากภายในสวน คือแถบดำเนินสะดวก วัดเพลงและสมุทรสงคราม มาจอดเทียบท่าบริเวณริมน้ำแม่กลอง ที่มุมซ้ายด้านล่างของภาพจะเห็นรถเมล์สองแถวที่วิ่งรับส่งผู้คนจากนอกตัวเมืองเข้ามาภายในตัวเมือง (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นรถเมล์สองแถวสายใด) และเมื่อลองสังเกตที่บริเวณด้านหน้าของรถเมล์สองแถว จะเห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองในสมัยนั้นที่นำประปายังให้บริการไม่ทั่วถึง ก็ต้องออกมาหาบน้ำจากลำน้ำแม่กลองขึ้นมาเพื่อนำกลับไปใช้อุปโภคบริโภคภายในครอบครัว
ในภาพด้านขวา เป็นบรรยากาศของสนามหญ้า ตลาดสนามหญ้า หรือตลาดราชพัสดุ เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว สนามหญ้าถือได้ว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองราชบุรี และยังมีหอนาฬิกาสิ่งปลูกสร้างที่กลายเป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองราชบุรี ในอดีตบริเวณแห่งนี้ มีหญ้าปลูกขึ้นเขียวขจีไปทั่วทั้งสนาม และมีน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลางสนาม คนทั่วไปจึงเรียกติดปากว่า "สนามหญ้า" มาจนถึงปัจจุบัน
สนามหญ้าเป็นสถานที่พักผ่อนออกกำลังกายและสนามเด็กเล่นของผู้คนในตลาดและที่อยู่ใกล้เคียง พอถึงเวลาตอนเย็นก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยมาตั้งขายอาหารของกินกันอย่างเรียงราย ตั้งแต่เวลาหกโมงเย็นจนถึงรุ่งเช้า กลายเป็นตลาดโต้รุ่ง เช่นเดียวกับตลาดโต้รุ่งองค์พระที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม และตลาดโต้รุ่งแห่งนี้ยังเป็นสถานที่แห่งเดียวในอดีตที่ชาวเมืองราชบุรี สามารถออกมาหาซื้อของกินได้ในเวลากลางคืน
ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ทางราชพัสดุได้มีโครงการปรับปรุงตลาดโต้รุ่งสนามหญ้าให้มีระเบียบเรียบร้อยดูสวยงามมากยิ่งขึ้น จึงได้ทำการสร้างหลังคาคุมกันแดดกันฝนขึ้นอย่างถาวร และจัดแบ่งสันพื้นที่ขายของให้แก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการเข้ามมาขาย และได้ตั้งชื่อตลาดโต้รุ่งที่ปรับปรุงใหม่นี้ว่าตลาดราชพัสดุ สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นตลาดขายอาหารของกินตลอดทั้งวันมาจนถึงปัจจุบัน การปรับปรุงสนามหญ้าในครั้งนั้นเท่ากับเป็นการปิดตำนานสวนสาธารณะสนามหญ้าที่มีหญ้าขึ้นปกคลุมเขียวขจีลงเหลือเพียงแต่ความทรงจำของคนรุ่นก่อน และสร้างความสงสัยให้คนรุ่นใหม่ว่า ทำไมตลาดขายอาหารกลางเมืองราชบุรีที่หาหญ้าสักต้นหนึ่งไม่พบ จึงถูกเรียกว่า "สนามหญ้า"
ภาพนี้สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือการถ่ายภาพของนายสุรินทร์ วิรุฬห์วชิระ ที่ถ่ายจากบนดาดฟ้าบ้านของนางหัทยา มณีกุล




สนามหญ้าในยามค่ำคืนเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว กลายสภาพเป็นตลาดโต้รุ่งที่มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยพากันมาตั้งขายอาหารและของกินต่างๆ อยู่เต็มไปหมด
ที่มา : พูลศรี จีบแก้ว.(2552). ภาพเก่าเล่าอดีต. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี, สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 108-110).


ไม่มีความคิดเห็น: